วันจันทร์ที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559

ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับภาพพิมพ์ (อย่างย่อ)

จากคอลัมน์ของ . สมพร  คล้ายวิเชียร




ภาพพิมพ์บนผนังถ้ำยุคก่อนประวัติศาสตร์

             มนุษย์สมัยก่อนประวัติศาสตร์บังเอิญเอามือที่เปื้อนดินโคลนไปจับหรือวางทาบตามผนังถ้ำ ทำให้เกิดรอยฝ่ามือขึ้น ด้วยเหตุนี้มนุษย์จึงนำมือไปจุ่มสีแล้วเอามาวางทาบบนผนังถ้ำเกิดเป็นรูปมือในลักษณะต่างๆ ซึ่งเราเรียกวิธีการแบบนี้ว่า การพิมพ์ภาพและเรียกภาพที่เกิดขึ้นว่า ภาพพิมพ์จากนั้นก็ได้พัฒนามาอย่างต่อเนื่องด้วยการหาวัสดุต่างๆ เช่น ไม้ แผ่นโลหะ แผ่นหิน แผ่นยาง ผ้าไหม ฯลฯ มาใช้พิมพ์แทนที่มือ จนเกิดกระบวนการพิมพ์ขึ้นมา 4 กระบวนการหลักๆ คือ ภาพพิมพ์ผิวนูน ภาพพิมพ์ร่องลึก ภาพพิมพ์พื้นราบ และภาพพิมพ์ตะแกรงไหม ซึ่งการพิมพ์ทั้ง 4 กระบวนการนี้ ได้รับ การพัฒนาคิดค้นขึ้นมา เพื่อใช้พิมพ์ภาพและตัวอักษรให้ได้เป็นจำนวนมากสำหรับใช้ในวงการธุรกิจ การค้า โดยพิมพ์เป็นหนังสือ แผ่นพับ ป้ายโฆษณา แผ่นปิดภาพยนต์ เสื้อผ้า หีบห่อ บรรจุภัณฑ์ กล่องขนม กล่องไม้ขีด ถุงใส่ของ เป็นต้น
            อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกระบวนการพิมพ์นั้นสามารถสร้างภาพได้สวยงามเหมือนกับ ผลงานจิตรกรรม อีกทั้งยังสามารถพิมพ์ภาพซ้ำๆ ที่เหมือนกันได้เป็นจำนวนมาก แต่จิตรกรรมไม่ สามารถทำภาพซ้ำกันได้ ถึงแม้ทำซ้ำก็ไม่เหมือนเดิม จึงทำให้ไม่เอื้ออำนวยต่อการสะสมและจัดจำหน่าย ดังนั้นศิลปินจึงได้นำกระบวนการพิมพ์ทั้ง 4 กระบวนการนั้นมาใช้ในการสร้างสรรค์ ผลงานศิลปะ เพื่อเอื้ออำนวยต่อการสะสมและจัดจำหน่ายให้ได้มากขึ้น จนกระทั่งเมื่อประมาณ 50 มานี้เอง ภาพพิมพ์ได้รับการยอมรับในวงการศิลปะว่ามีคุณค่าเป็นศิลปะอีกแขนงหนึ่งที่สามารถถ่ายทอด จินตนาการ อารมณ์ ความรู้สึกได้อย่างดีเยี่ยม
            จากที่กล่าวมาขึ้นต้นจะเห็นได้ว่าภาพพิมพ์นั้น มีจุดมุ่งหมายในทำอยู่ 2 ลักษณะ คือ ภาพพิมพ์งานพาณิชย์ที่พิมพ์ เพื่อใช้เป็นสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์หรือสำหรับสร้างความสวยงามให้กับผลิตภัณฑ์ กับภาพพิมพ์งานศิลปะที่พิมพ์ เพื่อเป็นสื่อในการแสดงออกทางอารมณ์ ความรู้สึกของศิลปิน สำหรับเอกสารประกอบการสอนเล่มนี้ ผู้เขียนมุ่งเน้นเฉพาะภาพพิมพ์งานศิลปะ ดังนั้นจึง ขอกล่าวเฉพาะเนื้อหาสาระที่เกี่ยวกับศิลปะภาพพิมพ์หรือภาพพิมพ์ต้นฉบับเท่านั้น ซึ่งในการศึกษาผู้เรียนจำเป็นต้องมีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับความหมาย ประเภท รูปแบบ การเซ็นชื่อและการเขียนข้อความต่างๆ ลงในภาพพิมพ์ต้นฉบับ ภาพพิมพ์พิสูจน์ ตลอดจนการเก็บรักษาผลงานภาพพิมพ์

             ภาพพิมพ์ในสหรัฐอเมริกาใช้คำว่า “Printmaking” สำหรับเรียกกระบวนการพิมพ์ที่ สร้างสรรค์เพื่อเป็นศิลปะและใช้คำว่า “Print” สำหรับเรียกกระบวนการพิมพ์ที่เป็นงานพิมพ์ทั่วไป โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับงานพาณิชย์ต่างๆ (พีระพงษ์ กุลพิศาล, 2531:68)
ภาพพิมพ์ คือ กระบวนการถ่ายทอดผลงานจากแม่พิมพ์ชนิดแผ่นโลหะ แผ่นไม้ แท่นหิน ตะแกรงไหม แล้วผ่านกระบวนการพิมพ์ ซึ่งจะได้ผลงานที่เหมือนๆ กัน เป็นจำนวนมากในด้านวิจิตรศิลป์

ประเภทของภาพพิมพ์

              ภาพพิมพ์มีกลวิธีแตกต่างกันขึ้นอยู่กับลักษณะของแม่พิมพ์ ดังนั้นการแบ่งประเภทของภาพพิมพ์จึงพิจารณาจากลักษณะแม่พิมพ์เป็นหลัก สามารถแบ่งออกได้ 4 กระบวนการหลัก คือ ภาพพิมพ์ผิวนูน ภาพพิมพ์ร่องลึก ภาพพิมพ์พื้นราบ และภาพพิมพ์ตะแกรงไหม

             1. ภาพพิมพ์ผิวนูน (Relief Printing) 

                      คือ กระบวนการพิมพ์ที่พิมพ์จากผิวส่วนที่อยู่สูงบนแม่พิมพ์ ดังนั้นส่วนที่ถูกแกะเซาะออกไปหรือส่วนที่เป็นร่องลึกลงไปจะไม่ถูกพิมพ์ ซึ่งแม่พิมพ์ในลักษณะนี้ เช่น แม่พิมพ์แกะไม้ แม่พิมพ์แกะยาง แม่พิมพ์กระดาษแข็ง แม่พิมพ์วัสดุ เมื่อเวลาพิมพ์แม่พิมพ์เหล่านี้จะใช้เครื่องมือประเภทลูกกลิ้ง ลูกประคบหนัง ทาหมึกลงบนส่วนนูนของแม่พิมพ์ แล้วนำไปพิมพ์ลงบนกระดาษอาจจะพิมพ์ ด้วยมือหรือแท่นพิมพ์ หมึกก็ติดกระดาษเกิดเป็นรูปขึ้นมา


                                            The Kissผลงาน Edvard Munch

              2. ภาพพิมพ์ร่องลึก (Intaglio Printing) 

                       คือ กระบวนการพิมพ์ที่พิมพ์จากส่วนที่อยู่ลึกเป็นร่องของแม่พิมพ์ ซึ่งแม่พิมพ์จะมีส่วนที่นูนและร่องเหมือนกับแม่พิมพ์ผิวนูน แต่เวลาพิมพ์ต้องอุดหมึกลงไป ในร่องลึกและเช็ดบริเวณที่ไม่ต้องการจะพิมพ์ออก แล้วนำกระดาษเปียกน้ำหมาดๆ วางลงบนแม่พิมพ์ จากนั้นพิมพ์ด้วยแท่นพิมพ์ที่มีแรงกดสูงเพื่อกดกระดาษให้ไปดูดซับหมึกขึ้นมา ซึ่งกลวิธีที่รวมอยู่ภายใต้กระบวนการนี้ ได้แก่ ภาพพิมพ์ภาพถ่าย ภาพพิมพ์มัชฌิมรงค์ ภาพพิมพ์อย่างสีน้ำ ภาพพิมพ์จารเข็ม ภาพพิมพ์แกะลายเส้น ภาพพิมพ์กัดกรด ภาพพิมพ์แบบเขียนถ่าน ภาพพิมพ์ กัดกรดพื้นนิ่ม ภาพพิมพ์กัดกรดรูปนูน



ชีวิต หมายเลข5  กมล ศรีวิชัยนันท์

              3. ภาพพิมพ์พื้นราบ (Planographic Printing หรือ Lithograph) 

                       คือ กระบวนการพิมพ์ที่พิมพ์จากพื้นแบนราบ ส่วนที่ถูกพิมพ์และส่วนที่ไม่ต้องการพิมพ์นั้นจะอยู่ในระนาบแม่พิมพ์ บริเวณทั้งสองจะต่างกันเพียงส่วนที่ต้องการพิมพ์จะเป็นไขหรือน้ำมัน แต่อีกส่วนที่ไม่ต้องการพิมพ์จะชุ่มด้วยน้ำ เมื่อเวลาพิมพ์จะใช้ลูกกลิ้งที่มีหมึกเชื้อน้ำมันติดอยู่ กลิ้งลงบนแม่พิมพ์ที่มีน้ำหมาดๆ เมื่อกลิ้งหมึกซึ่งเป็นไขผ่านไปบนแม่พิมพ์ หมึกเชื้อน้ำมันจะติดลงบนส่วนที่เป็นไขของแม่พิมพ์เท่านั้น จากนั้นนำเอากระดาษมาปิดทับบนแม่พิมพ์ เพื่อรีดกดให้หมึกติดกระดาษเกิดเป็นรูปภาพตามที่ต้องการ กลวิธีที่รวมอยู่ภายใต้กระบวนการนี้ ได้แก่ ภาพพิมพ์ครั้งเดียว และภาพพิมพ์หิน


Brustbild Einer Arbeitfrau ผลงาน Kathe Kollwitz

                  4. ภาพพิมพ์ตะแกรงไหม (Silk Screen) 

                      คือ กระบวนการพิมพ์ที่พิมพ์ โดยใช้ไม้ปาดสีรีดเนื้อสีผ่านตะแกรงเนื้อละเอียดลงมาสู่วัสดุที่ต้องการพิมพ์ ซึ่งบริเวณที่ไม่ถูกพิมพ์จะเป็นบริเวณตะแกรง ที่ถูกกันเอาไว้ไม่ให้สีลอดผ่านลงมาสู่วัสดุที่ต้องการพิมพ์

Marilyn ผลงาน Andy Warhol

อ้างอิง ; แหล่งที่มา: โดย สมาพร คล้ายวิเชียร

---------------------------------------------------------------------------------------------------นำเสนอโดย  rayibrayab ---------------------------------------------------------


1 ความคิดเห็น:

  1. @ ทั้งสี่ประเภทเบื้องต้นนี้..เป็นต้นทางนำสู่ภาคขยายชนิดการพิมพ์ ที่หลากหลายเทคนิควิธี จากเหตุความก้าวหน้าด้านวิทยาการและเทคโนโลยีการพิมพ์ในปัจจุบัน...

    ตอบลบ