วันพฤหัสบดีที่ 21 มกราคม พ.ศ. 2559

Pad file 0001 ( Test Link )
เนื้อหาประกอบการสอน(อย่างย่อ)
รายวิชา  หลักการทางศิลปกรรม
โดย rayibrayab
--------------------------------------------------------------------
U/1
ความรู้เบื้องต้นเกี่ยวกับศิลปกรรม

คำว่า ศิลปกรรม เป็นคำที่ใช้ในทางวิชาการในสถาบันการศึกษา ที่จัดการศึกษา
ในระดับปริญญาตรี ศิลปกรรมเป็นคำนามหมายถึง สิ่งที่เป็นศิลปะ, สิ่งที่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นศิลปะ,
เช่น งานประติมากรรม งานสถาปัตยกรรมจัดเป็นศิลปกรรม (ราชบัณฑิตยสถาน. 2546: 1101)
คนส่วนมากเข้าใจว่าการออกแบบศิลปกรรม คือการสร้างสรรค์ผลงานทางศิลปะให้เกิดความงาม
แก่สายตา แต่แท้จริงแล้วความงามเป็นเพียงส่วนหนึ่ง จุดประสงค์ในการออกแบบศิลปกรรม
มีหลายสิ่งที่ต้องพิจารณาให้เหมาะสมทั้งด้านประโยชน์ใช้สอย ด้านความงามและความรู้สึกนึกคิด รูปแบบที่นำเสนอมีทั้งรูปแบบสองมิติและสามมิติ
          พฤติกรรมขั้นพื้นฐานทางศิลปกรรมของมนุษย์ล้วนเกิดจากแรงบันดาลใจกระทบ นำสู่กระบวนการคิดจากฐานคติความเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นศิลปกรรมที่มุ่งเน้นคุณค่าด้านความงามที่ช่วยยกระดับการพัฒนาสติ ปัญญาและรสนิยม  รวมถึงการมุ่งเน้นคุณค่าด้านประโยชน์ใช้สอย อาทิ การแต่งกายให้เหมาะสมชวนมอง การจัดที่อยู่อาศัยให้น่าอยู่ การปลูกต้นไม้สร้างบรรยากาศให้สดชื่น หรือการปรุงอาหารโดยตกแต่งให้ชวนรับประทาน เหล่านี้ล้วนมีจุดมุ่งหมายก่อให้เกิดการตอบสนองด้วยการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ เพื่อประโยชน์ในการดำเนินชีวิตทั้งทางส่วนตัวหรือทางสังคม
          เนื่องจากมนุษย์เป็นผู้สร้างสรรค์งานศิลปะและได้แบ่งประเภทของงานศิลปะ
ออกไปเป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือวิจิตรศิลป์ (Fine Art) และประยุกต์ศิลป์ (Applied Art) ซึ่งจำเป็น
อย่างยิ่งที่จะต้องเข้าใจตั้งแต่ความหมายของศิลปะ การแบ่งประเภทของศิลปะ ความหมายของ
การออกแบบ การแบ่งประเภทของการออกแบบ เพื่อให้มองเห็นองค์ประกอบสำคัญ และจุด
มุ่งหมายของการกำหนดรูปแบบงานศิลปกรรมแต่ละประเภทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

            ความหมายของ ศิลปะ
การจำกัดความให้แน่นอนว่าศิลปะคืออะไรเป็นเรื่องยาก เพราะศิลปะเป็นงาน
สร้างสรรค์ซึ่งผู้สร้างงานมักมีแนวคิดและรูปแบบในการสร้างสรรค์ให้เกิดความแปลกใหม่อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้เกิดความเข้าใจเป็นพื้นฐานจึงอ้างอิงจากหนังสือเกี่ยวกับการบัญญัติศัพท์ที่ให้นิยามของคำว่าศิลปะไว้ดังนี้
ศิลป-, ศิลป์, ศิลปะ [สินละปะ-, สิน, สินละปะ] . ฝีมือ, ฝีมือทางช่าง, การแสดง
ออกซึ่งอารมณ์สะเทือนใจให้ประจักษ์เห็น โดยเฉพาะ หมายถึง วิจิตรศิลป์ (ราชบัณฑิตยสถาน.
2539: 738)
ศิลป-, ศิลป์, ศิลปะ[สินละปะ-, สิน, สินละปะ] . การประดับ, ฝีมือ, ฝีมือทางช่าง,
การแสดงออกให้เห็นถึงอารมณ์สะเทือนใจ (พจนานุกรมฉบับเฉลิมพระเกียรติ. 2534: 505)
ศิลปะ คือ ผลแห่งพลังความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์ ที่แสดงออกในรูปลักษณ์
ต่างๆ ให้ปรากฏในสุนทรียภาพ ความประทับใจ หรือความสะเทือนอารมณ์ ความมีอัจฉริยภาพ
พุทธิปัญญา ประสบการณ์ รสนิยม และทักษะของแต่ละคน เพื่อความพอใจ ความรื่นรมย์ ขนบ
ธรรมเนียม จารีตประเพณี หรือความเชื่อในลัทธิศาสนา (พจนานุกรมศัพย์ศิลปะ. 2541: 26)
ในประเทศไทยศิลปินและนักการศึกษาได้นิยามความหมายของคำว่าศิลปะไว้ดังนี้
คำว่า “Art” ตามแนวสากลนั้นมาจากคำว่า Arti และ Arte ซึ่งเริ่มนิยมใช้
ในสมัยเฟื่องฟูศิลปวิทยา ความหมายของคำ Arti นั้น หมายถึง กลุ่มช่างฝีมือในศตวรรษที่ 14 -16 คำ Arte มีความหมายถึง ฝีมือ ซึ่งรวมถึงความรู้ของการใช้วัสดุของศิลปินด้วย เช่น การผสมสีลงพื้นสำหรับการเขียนภาพสีน้ำมัน หรือการเตรียมและการใช้วัสดุอื่นอีก (วิรัตน์  พิชญไพบูรณ์. 2528: 1)
ศิลปะ หมายถึง สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นให้แก่ตัวเขาเองและสร้างความเข้าใจให้
แก่สังคม (อารี สุทธิพันธ์. 2532: 143)
ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างสรรค์ขึ้นเพื่อแสดงออกซึ่งอารมณ์ ความรู้สึก ปัญญา
ความคิดและความงาม (ชลูด นิ่มเสมอ. 2539: 15)
ยังมีคำนิยามของศิลปะที่น่าสนใจและถูกใช้อ้างอิงอย่างแพร่หลายในปัจจุบัน
ที่ปรากฏตามหนังสือและเอกสารต่างๆ ดังตัวอย่างพอสังเขปดังนี้
ศิลปะ คือ การเลียนแบบธรรมชาติ
ศิลปะ คือ การถ่ายทอดความรู้สึกหรือแสดงความรู้สึกเป็นรูปทรง
ศิลปะ คือ สื่อภาษาชนิดหนึ่ง
ศิลปะ คือ การแสดงออกทางบุคลิกภาพเด่นๆ ของศิลปิน
คำนิยามที่ได้รวบรวมไว้นั้น จะเห็นได้ว่า ศิลปะ คือ สิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้น เพื่อแสดงออกถึงฝีมือและความคิดสร้างสรรค์ ความเชื่อ รสนิยม บุคลิกและภูมิหลังของผู้สร้างงานมีทักษะ ความเพียร ความประณีตและภูมิปัญญา ช่างฝีมือสมัยโบราณเป็นผู้ทำงานศิลปะและฝึกคนรุ่นหลังซึ่งส่วนใหญ่เป็นเครือญาติให้สืบสานความรู้และฝีมือทางช่างจนทำให้เกิดสกุลช่างต่างๆขึ้น  ต่อมาสังคมเกิดการแผ่ขยายวงกว้างและมีโครงสร้างสลับซับซ้อนขึ้น  ผู้คนมีการศึกษา และมีอิสระทางความคิดมากขึ้น เกิดสถาบันการศึกษาด้านต่างๆ มากมายรวมทั้งด้านศิลปะ แนวคิดด้านศิลปะเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย เกิดการแบ่งแยกระหว่างช่างฝีมือผู้ทำงานฝีมือและศิลปินผู้สร้างสรรค์งานวิจิตรศิลป์
ในปัจจุบัน เมื่อเราพูดถึงศิลปะเพียงคำเดียว จะหมายถึงเฉพาะศิลปะที่เป็นวิจิตรศิลป์เท่านั้น ส่วนงานศิลปะที่ทำขึ้นเพื่อจุดประสงค์อย่างอื่นจะเรียกว่าประยุกต์ศิลป์ หรือเรียกจำแนกออกไปตามสาขา เช่น หัตถศิลป์ (Craft Art) อุตสาหกรรมศิลป์ (Industrial art) พานิชศิลป์ (Commercial Art) มัณฑนศิลป์ (Decorative Art)นิเทศศิลป์ (communication art ) ว่าได้ประยุกต์ศิลปะ หรือสุนทรียภาพเข้าไปในงานอุตสาหกรรม งานสื่อสารมวลชนหรืองานตกแต่งบ้านเรือนแล้ว
นอกจากนี้ คำว่าศิลปะยังมีความหมายในวงที่แคบเข้ามาอีก 2 ความหมาย คือ
1. ศิลปะ หมายถึง เฉพาะงานทัศนศิลป์ ซึ่งประกอบด้วยประติมากรรม จิตรกรรม
ภาพพิมพ์ และงานสร้างสรรค์อื่นซึ่งใช้การเห็นเป็นปัจจัยในการรับรู้เท่านั้น


คำว่า ศิลปิน (artist) ที่นิยมใช้กันทั่วไปทุกวันนี้ ส่วนมากหมายถึงผู้สร้างงานทัศนศิลป์ ได้แก่ จิตรกร ประติมากร และศิลปินภาพพิมพ์สำหรับผู้ทำงานศิลปะสาขาอื่นไม่นิยมเรียกว่าศิลปิน แต่จะมีคำเฉพาะตามสาขาอาชีพ เช่น สถาปนิก นักประพันธ์ นักดนตรี นักแสดง มัณฑนากร นักออกแบบ เป็นต้น
2. ศิลปะ หมายถึง ความมีคุณภาพหรือคุณค่าทางศิลปะของผลงาน ดังนั้นหากผลงานที่ออกมาไม่มีคุณค่าทางสุนทรียะหรือความงามเพียงพอ ก็ไม่อาจจัดให้ผลงานชิ้นนั้นเป็นงานศิลปะได้

การแบ่งประเภทของศิลปะ
การแบ่งประเภทของศิลปะนั้นมีผู้แบ่งไว้หลายแนวทาง ชลูด นิ่มเสมอ (2539:
3-4) ได้จำแนกแนวทางการแบ่งไว้ชัดเจนเป็นข้อๆ 3 วิธี ดังนี้คือ
1. ศิลปะแบ่งตามจุดมุ่งหมายของการสร้าง
2. ศิลปะแบ่งตามลักษณะของสื่อในการแสดงออก
3. ศิลปะแบ่งตามลักษณะของการรับสัมผัส

1. ศิลปะแบ่งตามจุดมุ่งหมายของการสร้าง
การแบ่งประเภทของศิลปะตามจุดมุ่งหมายของการสร้างอาจแบ่งได้ดังนี้
   1.1 วิจิตรศิลป์ (fine art) ได้แก่ งานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์
สถาปัตยกรรม เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อให้ความรู้สึกทางสุนทรียภาพ ให้อารมณ์สะเทือนใจ
ปลุกความเห็นแจ้ง ให้ประสบการณ์ใหม่ หรือให้ความประเทืองปัญญาแก่ผู้ดู


   1.2 ประยุกต์ศิลป์ (applied art) เป็นศิลปะที่สร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์
อย่างอื่นนอกเหนือจากความชื่นชมในคุณค่าของศิลปะโดยตรง เช่น ภาพหรือลวดลาย
ที่ใช้ตกแต่งอาคารหรือเครื่องเรือน รูปทรง สีสันของผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ออกแบบให้เป็น
ที่พอใจของผู้บริโภค หรือเครื่องใช้ไม้สอยที่ทำขึ้นด้วยฝีมือประณีต ศิลปะที่ประยุกต์เข้าไป
ในสิ่งที่ใช้ประโยชน์เหล่านี้ จะให้ความพอใจอันเกิดจากความประณีต สวยงาม ความกลมกลืน

แก่ประสาทสัมผัสควบคู่ไปกับประโยชน์ใช้สอย
2. ศิลปะแบ่งตามลักษณะของสื่อในการแสดงออก
สื่อในการแสดงออกหรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่า สื่อสุนทรียภาพของงานศิลปะแต่ละ
สาขาย่อมแตกต่างไปตามธรรมชาติของการแสดงออก ซึ่งอาจแบ่งออกได้เป็น 5 สาขาคือ
   2.1 สถาปัตยกรรม (architecture) เป็นศิลปะที่แสดงออกเป็น 3 มิติ ด้วย
การใช้วัสดุ โครงสร้าง และปริมาตรของที่ว่างกับรูปทรง
  
  2.2 ประติมากรรม (sculpture) เป็นศิลปะที่แสดงออกเป็น 3 มิติ ด้วยการ
ใช้วัสดุ และปริมาตรของรูปทรง
 2.3 จิตรกรรม (painting) เป็นศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้สี แสง เงาและ
แผ่นภาพที่แบนราบ เป็นงาน 2 มิติ ซึ่งบางครั้งอาจใช้หลักทัศนียภาพลวงตาให้เกิดเป็นภาพ
3 มิติ
2.4 วรรณกรรม (literature) เป็นศิลปะที่แสดงออกด้วยการใช้ภาษาสื่อสาร
     
2.5 ดนตรีและนาฏกรรม (music and drama) เป็นศิลปะที่แสดงออก
ด้วยการใช้เสียง (หรือภาษา) และความเคลื่อนไหวของร่างกาย

3. ศิลปะแบ่งตามลักษณะของการรับสัมผัส
ประสาทรับสัมผัสของมนุษย์ประกอบด้วยประสาททางตา หู จมูก ลิ้น
และกาย แต่การรับสัมผัสที่ให้ความพอใจในสุนทรียภาพในระดับสูงมี 2 ทาง คือ ทางตา และทางหู
ดังนั้น จึงมีการแบ่งศิลปะตามลักษณะของการรับสัมผัสออกได้เป็น 3 สาขา คือ

  3.1 ทัศนศิลป์ (visual art) เป็นศิลปะที่รับสัมผัสด้วยการเห็น ได้แก่   สถาปัตยกรรมประติมากรรม จิตรกรรม และภาพพิมพ์   

   3.2 โสตศิลป์ (audio art) เป็นศิลปะที่รับสัมผัสได้ด้วยการฟัง ได้แก่ ดนตรี และวรรณกรรมซึ่งวรรณกรรมในที่นี้รับรู้โดยการฟัง ทั้งดนตรีและวรรณกรรมอาจเกิดขึ้นได้  จากจินตนาการเรียก
จินตศิลป์ (imaginative art) ก็ได้

   3.3 โสตทัศนศิลป์ (audio visual art) เป็นศิลปะที่รับสัมผัสด้วยการฟัง
และการเห็นพร้อมกัน ได้แก่ นาฏกรรม การแสดงภาพยนตร์ ซึ่งเป็นการผสมกันของวรรณกรรม
ดนตรี และทัศนศิลป์ บางแห่งเรียกศิลปะสาขานี้ว่าศิลปะผสม (mixed art)

จากที่กล่าวมาแล้วข้างต้นในเรื่องความหมายของศิลปะหรือการแบ่งประเภท
และสาขาของศิลปะ จุดสำคัญอันหนึ่งของการทำงานศิลปะคือการออกแบบ เพราะการออกแบบ
คือการวางแผนงาน ไม่ว่าจะทำงานใดก็ตามล้วนต้องเริ่มต้นจากการวางแผนทั้งสิ้น

-------------------------------------------------------------

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น